Posts Tagged With: การตีความกฎหมายมหาชน

รัฐธรรมนูญ2550 มาตรา 68 เลวหรือผู้ใช้มั่วหรือพอๆกัน

รัฐธรรมนูญ2550มาตรา68มีวัตถุประสงค์คุ้มครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ผู้ใดจะล้มล้างระบอบนี้ย่อมได้ชื่อว่าทำให้ความมั่นคงของรัฐเสียหาย จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อน แล้วอัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำนั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักของกฎหมายที่ให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการฟ้องคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดี อัยการได้ทำหน้าที่นั้นมานานจนกลายเป็นสถาบันหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ หมายความว่าประเทศจำเป็นต้องมีอัยการ เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จะเห็นว่าคดีอาญาที่รัฐเป็นผู้เสียหายและเอกชนก็เป็นผู้เสียหายด้วย เช่นคดีฆ่าผู้อื่น ผู้ตายกับรัฐเป็นผู้เสียหายทั้งคู่ กล่าวคือ รัฐเสียหายเพราะมีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นในรัฐ ส่วนผู้ตายเสียหายชีวิตไป ผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดผู้ตาย เช่น บุตรย่อมตกอยู่ในฐานะผู้เสียหายด้วย เขาจึงมีสิทธิไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ พนักงานสอบสวนก็จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและทำความเห็นส่งพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการตรวจสำนวนแล้วอาจสั่งฟ้องศาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมองเห็นความชัดเจนของพยานหลักฐานหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้บุตรของผู้ตายยังมีสิทธิฟ้องศาลโดยตรงภายในอายุความได้ด้วย  ทั้งสองลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์นำผู้ฆ่ามาลงโทษ ซึ่งเป็นหลักของการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่เป็นเอกชน ซึ่งย่อมมีความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์ ที่ไปที่มา และข้อเท็จจริงทั่วไปที่เกี่ยวข้องตามสมควรได้ดี เพราะเป็นธรรมดาของผู้ที่มีความใกล้ชิดถึงขนาดกฎหมายยอมรับให้ทำแทนกันได้

สำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่รู้เห็นการฆ่า ย่อมอยู่ในฐานะพยาน ซึ่งหากจะทำหน้าที่พลเมืองดีเป็นพิเศษให้ปรากฎ ก็ไปแจ้งความกล่าวโทษผู้ลงมือฆ่าต่อพนักงานสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการก็จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามขั้นตอนดังกล่าวต่อไป ในส่วนนี้เป็นหลักของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ตามตัวอย่างนี้คือการควบคุมอาชญากรรม จึงไม่ควรทำเป็นเล่น เพราะหากต้องการคงความเป็นพลเมืองดีเป็นพิเศษต่อไป อย่าลืมสละเวลาติดตามทวงถามความคืบหน้าเป็นระยะๆด้วย แต่จะฟ้องศาลโดยตรงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งโดยหลักสากลไม่มีรัฐใดบัญญัติกฎหมายให้สิทธิพยานนำเรื่องที่ตนรู้เห็นแล้วทำเป็นคดีฟ้องศาล หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนมีส่วนเป็นผู้เสียหายด้วย เพราะจะไปล่วงรู้ที่มาที่ไปของข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถูกต้องเท่ากับผู้เสียหายได้อย่างไร ที่สำคัญจะไปล่วงรู้ถึงความเสียหายที่ได้รับดีเท่ากับผู้เสียหายเองได้อย่างไร ดังนั้น หากให้สิทธิฟ้องศาลได้โดยตรง นอกจากจะเกิดความเสียหายอันเนื่องจากเปิดช่องทางให้หาเรื่องกลั่นแกล้งกันได้กว้างขวางแล้ว ยังทำให้ศาลเกิดความสับสน ศาลอาจวินิจฉัยคดีผิดพลาด และอาจเกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้คนที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองตามมา

ส่วนกรณีมาตรา68แห่งรัฐธรรมนูญ2550นั้น ผู้ทราบถึงการจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองดังกล่าว มีฐานะเป็นเพียงพยานเช่นกัน ซึ่งหากประสงค์แสดงตนเป็นพลเมืองดีเป็นพิเศษด้วย รัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็ให้สิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรงนี้เป็นสิทธิตามหลักของกฎหมายมหาชน

อนึ่ง รัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายปกครองก็ดี จัดอยู่ในประเภทกฎหมายมหาชน ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีฐานะเป็นบุคคลตามหลักของกฎหมายมหาชน สิทธิของเขาจึงต้องอยู่ในขอบเขตของตัวบทกฎหมายที่บัญญัติให้สิทธิเท่านั้น ไม่อาจมีสิทธิกว้างขวางดังเช่นสิทธิของบุคคลตามหลักของกฎหมายเอกชน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้สิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่าให้สิทธิเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเท่ากับบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยพละการ

นอกจากนั้น การให้สิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพียงช่องทางเดียว ไม่ได้หมายความว่าจำกัดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองดังกล่าว  เพราะเรื่องความมั่นคงของประเทศมีหลักการซับซ้อน เจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลความมั่นคงของประเทศอยู่แล้ว ย่อมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้เป็นพื้นฐาน จึงรู้ดีถึงแง่มุมของการกระทำอันจะก่อความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปอาจมีความรู้ความเข้าใจตรงกันบ้างแตกต่างกันบ้างหลากหลายแล้วแต่มุมมอง รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติอำนาจหน้าที่ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน เพื่อให้ได้ความชัดเจน และสรุปความเห็น ซึ่งย่อมทำได้อย่างน่าเชื่อถือว่า การกระทำลักษณะใดเข้าข่ายจะใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างระบอบการปกครองดังกล่าวหรือไม่ เพราะมีพื้นฐานทางความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ตามอำนาจหน้าที่และประสบการณ์ตรงในฐานะสถาบันอัยการของประเทศมาช้านาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งตั้งได้ไม่นาน ย่อมขาดสิ่งที่เรียกว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ขององค์กรและความเป็นสถาบัน หมายความว่ายังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนานจึงจะมีความเป็นสถาบันเกิดขึ้นนั่นเอง  

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าตนมีอำนาจรับเรื่องจากประชาชนโดยไม่ต้องรอให้อัยการสูงสุดเสนอเรื่อง จึงแสดงให้เห็นข้อบกพร่องและผลกระทบร้ายแรงหลายประการ เช่น

ประการแรก เท่ากับศาลรัฐธรรมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยพละการ ทำให้มีคำถามตามมาว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือ จึงกล้าทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง แต่อ้างว่าทำถูกแล้ว ผู้คนจำนวนมากจึงเห็นว่าเหมือนการทำรัฐประหาร เพราะคณะรัฐประหารก็กล้าลงมือทำผิดกฎหมายบ้านเมืองก่อน แล้วจึงบังคับให้ประชาชนยอมรับว่าที่ทำไปนั้นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นกฎหมายอะไรของมัน เพราะหากกฎหมายนั้นมีจริง จะชอบการทำรัฐประหารได้อย่างไร เนื่องจากเสียหายแก่เงินภาษีของประชาชน เสียหายทางเศรษฐกิจสังคม และเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ นี่คือที่มาของคำว่ารัฐประหารโดยตุลาการหรือโดยศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นข่าวทั่วไปมานานแล้ว

ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจผิดว่าบุคคลผู้ทราบการกระทำล้มล้างระบอบการปกครองดังกล่าว มีสิทธิอย่างกว้างขวางดังเช่นบุคคลตามหลักของกฎหมายเอกชน ซึ่งย่อมมีสิทธิทำอะไรก็ได้ตราบใดที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่นจะเข้าไปซื้อข้าวของที่ต้องการในศูนย์การค้าใดก็ได้ เป็นสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกได้ตามความพอใจ เพราะเป็นการชอปปิ้ง ไม่ใช่การใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม จึงเห็นได้ว่าเป็นการใช้หลักของกฎหมายไม่ตรงกับเหตุผลทางกฎหมายของเรื่องนี้ เพราะสิทธิทั่วไปของบุคคลตามหลักของกฎหมายเอกชนได้ถูกจำกัดขอบเขตแล้วโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน จึงต้องตีความตามหลักของกฎหมายมหาชนดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดที่เดียวเท่านั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะรู้ดีว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในระบบกฎหมายมหาชน และตุลาการทุกคนในศาลนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านกฎหมายมหาชนเป็นหลักและเป็นที่ประจักษ์ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะใช้หลักของกฎหมายนี้ได้ถูกต้อง แต่จากผลงานในส่วนที่ผิดพลาดและแนวคิดทางกฎหมายที่ปรากฎสู่สาธารณะ ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าการกำหนดคุณสมบัติและกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ น่าจะต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย ซึ่งน่ารับฟัง      

ประการที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำหน้าที่ของตนเอง กล่าวคือ หากเปรียบศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนถนัดขวา ก็เท่ากับตัดมือขวาของตนเองทิ้งไป แล้วทำงานด้วยมือซ้าย ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะใช้งานได้ดี แม้กระนั้น ก็ไม่มีวันจะทำงานได้ดีเท่ากับมีครบทั้งสองมือไม่ใช่หรือ ในกระบวนการยุติธรรมนั้น อัยการเป็นมือขวาในการกลั่นกรองพยานหลักฐานสู่ศาล อันเป็นหลักสากลสำหรับคดีที่ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องโดยตรง ย่อมเท่ากับกระโดดรับทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดเสียเอง และทำงานด้วยมือซ้าย ซึ่งไม่ค่อยถนัดนัก คือตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้พื้นฐานอันไม่ค่อยชัดเจนในด้านความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในเรื่องที่ตรวจสอบดังเช่นอัยการ การสรุปความเห็นจึงอาจผิดพลาดและอาจมีอคติในการวินิจฉัยคดีก็ได้ เพราะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำความเห็นและผู้ตัดสินหรือวินิจฉัยชี้ขาดเป็นคนเดียวกัน แสดงถึงการขาดคุณธรรมของการอำนวยความยุติธรรม คือความรอบคอบและความยุติธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมตามแนวคิดในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั่วไปนั่นเอง ประชาชนและนักวิชาการจำนวนมากจึงไม่เชื่อถือในคำสั่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญขาดคุณธรรมสองข้อนี้โดยรู้ตัวหรือไม่ ประชาชนยุคนี้เขารู้ดี ซึ่งบังเอิญไปปรากฎในเรื่องที่มวลชนหลากหลายกลุ่มให้ความสนใจ ดังนั้น แม้เพียงเรื่องเดียว ผู้คนจำนวนมากจึงขาดความเชื่อถืออย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับเกิดความหวาดกลัว ความหวาดระแวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ประชาชนจำนวนมหาศาลที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม และนักการเมืองประชาธิปไตยนิยมจำนวนมาก ขนาดผู้แทนราษฎรแท้ๆยังกลัวถึงระดับปอดแหกไปหลายคน จนไม่กล้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ผู้คนจึงมักตั้งคำถามว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือ จึงกล้าทำในสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกลัว หรือหวาดระแวง เพราะความรู้สึกเช่นนี้ย่อมรู้กันว่า ล้วนพัฒนาไปสู่ความเกลียดชัง ขยะแขยง และความแตกแยกในบ้านเมือง 

ประการที่สี่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญมาตรา68นี้ว่า ผู้ทราบการกระทำล้มล้างระบอบการปกครองดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องขอโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยยกเลิกการกระทำนั้นได้ นอกจากส่งผลให้พลเมืองดีนักร้องทั้งหลายไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกันเพียบแล้ว ในขณะเดียวกันอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดในเรื่องนี้ก็เป็นหมันไปโดยปริยาย จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องมากมาย ทั้งจากมวลชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม นักวิชาการ และนักการเมืองจำนวนมากว่า ตีความหรือใช้รัฐธรรมนูญขัดนิติธรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยไม่มีอำนาจ กำจัดอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฟังดูคล้ายๆจะมองว่าประเทศไทยกลายเป็นตุลาการรัฐไปเสียแล้ว ไม่ใช่เป็นประชารัฐ อย่างที่คนไทยทุกคนเข้าใจพร้อมกันทุกครั้งที่ร้องเพลงชาติ  

ประการที่ห้า ในภาพรวมได้สะท้อนระบบความคิดตุลาการไทยว่ามีความสับสนสูงมากในเรื่องหลักของกฎหมายหรือนิติธรรม ซึ่งในเบื้องต้นเห็นกันชัดแล้วไม่ใช่หรือว่า มีการตีความหรือใช้กฎหมายผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำหลักของกฎมายเอกชนไปใช้ตีความกฎหมายมหาชน หรือนำหลักของกฎหมายมหาชนไปตีความกฎมายเอกชน หากกฎหมายใดมีส่วนใดที่จำเป็นต้องผสมผสานก็แยกไม่ออก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งจึงมักถูกมองว่าไม่เคารพหลักของกฎหมายตามสมควรแก่กาลสมัยและความเป็นไปของสังคมการเมืองยุคใหม่ กลายเป็นองค์กรถ่วงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ในด้านการพัฒนาประชาธิปไตยและความเป็นธรรม แม้ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย

จึงมีข้อน่าสังเกตว่า ระบบคิดแบบศรีธนญชัยหรือศรีธนญชัยโมเดลหรือความไม่ตรงประเด็น(irrelevance)ได้ฝังรากลึกสู่กลางใจนักกฎหมายและนักวิชาการทาสเผด็จการมานาน เพราะการประจบผู้มีอำนาจเป็นเส้นทางหลักสู่ตำแหน่งสูงๆและหรือผลประโยชน์อื่นใดตามที่เขาประสงค์  จึงน่าเห็นใจจริงๆ สำหรับผู้มีอำนาจหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ2550หลายมาตราให้ชัดเจน เพราะผู้มีอำนาจตีความคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง  

ดังนั้น หากจะแก้ไขให้ชัดเจนทั้งๆที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังเช่นมาตรา68นี้ จึงมีทางเดียวคือยึดหลักรัฐธรรมนูญโดยประชาชนจริงๆเข้าไว้ นั่นคือต้องใช้ภาษาของคนธรรมดาทั่วไปเพื่อให้ทุกคนในประเทศเข้าใจตรงกัน และตีความหรือใช้รัฐธรรมนูญได้ตรงกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ย่อมดีที่สุด เพราะความชัดเจนเหนือความชัดเจนอยู่ตรงนี้ จะได้ไม่ต้องจำใจยอมตามหรือคล้อยตามความคิดของผู้ใดหรือองค์กรใดที่ยอมรับประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายอีกต่อไป เพราะใจเขายิ่งกว่าเถาวัลย์ และเต็มไปด้วยสีสรรแพรวพราวของศรีธนญชัยโมเดล เปล่งแสงลวงให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแสงแห่งนิติธรรมมาช้านาน จนประเทศไทยล้าหลังไปมากแล้ว    

อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราคราวนี้ ลองพิจารณาคำว่า “เท่านั้น” น่าจะนำไปต่อท้ายข้อความใด ที่ไม่ต้องการให้เข้าทางศรีธนญชัยโมเดลได้หรือไม่ หากได้ ก็จะช่วยลดความยุ่งเหยิงได้ไม่น้อย

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์……ผู้เขียน

ป.ล. มีคนแสดงความเป็นห่วงว่าสังคมไทยยังแยกถูกผิดไม่ได้
ก็จะให้แยกได้อย่างไรเล่าครับ เมื่อสังคมไทยยังยอมรับคนทำผิดว่าทำถูก แต่คนทำถูกก็ว่าทำผิด
รธน2550ยังร่างมาผิดๆ ช่วยสนับสนุนให้ร่างใหม่ให้ถูกซิครับ
สังคมไทยจะได้เริ่มต้นถูกกันเสียที……

A _Campaign_ for_ Democracy_ and _Justice-

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .