Posts Tagged With: ความหมายของนิติธรรม

นิติธรรมคืออะไร

 

ใครทำรัฐประหารสำเร็จ กระบวนการยุติธรรมยุคโบราณและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมองว่า ผู้นั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องรับผิด เพราะถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่ง อาจถูกลงโทษโดยเอาผู้ที่ขัดคำสั่งไปฆ่าก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลารอนานให้ศาลสั่ง ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้อำนาจบุคคลทางการเมืองการปกครองประเทศในยุคโบราณสืบทอดกันมา แม้บางช่วงบางประเทศมีความพยายามใช้นิติธรรมเป็นหลักในการปกครอง แต่ก็มีประเทศที่ยังไปไม่รอด

มองว่าอำนาจบุคคลที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น แท้จริงแล้วเกิดจากพลังอำนาจอาวุธในความควบคุมไม่ทางตรงก็โดยอ้อมของบุคคล เพียงแต่เรียกให้ดูดีว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แค่นั้นเอง แม้ผู้คนจำต้องยอมรับเพราะกลัวถูกฆ่า แต่พัฒนาการของสังคมการเมืองมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะเห็นคนไม่กี่คนเอารัดเอาเปรียบผู้คนส่วนใหญ่ทุกเรื่องก็ว่าได้ ไม่ว่าในด้านทรัพย์สิน ศักดิ์ศรี และแม้แต่คุณงามความดี แต่ไม่มีอำนาจอื่นใดยับยั้งเขาได้

อย่างไรก็ดี การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นงานที่ไม่มีขอบเขตจำกัด อีกทั้งมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นทุกวันและไม่รู้วันสิ้นสุด ยากที่ใครจะสร้างได้ตามลำพัง ที่สำคัญเมื่อบุคคลใดมีอำนาจมาก โอกาสที่จะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด หรือผิดพลาด หรือบิดเบือนการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกย่อมมีมาก เนื่องจากไม่มีใครกล้าใช้เหตุผลในการตรวจสอบ โต้แย้ง ติติง หรือประท้วง เพราะคมดาบไม่รู้จักอะไรคือเหตุที่ทำให้เกิดผลอันแท้จริง คนกลัวถูกฆ่าจึงบิดเบือนเหตุผลเอาตัวรอด และแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆใส่ตัวและพวกได้เช่นกัน

ความเป็นธรรมกับนิติธรรม. --

แต่การใช้กฎหรือหลักของกฎหมาย หรือนิติธรรม(the rule of law)ในการปกครองจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน ความเป็นธรรมทางสังคมก็เป็นพื้นฐานของนิติธรรมด้วย ความเป็นธรรมทางสังคมและนิติธรรมจึงแยกกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ซึ่งมีความผูกพันกันด้วยอำนาจเหตุผล สังคมการเมืองจึงมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนเป็นที่มาของรัฐบาลของประชาชน(democracy) หรือระบอบการเมืองการปกครองที่ผู้คนของประเทศใด ตั้งรัฐบาลของตนเองโดยตรงหรือทางอ้อมขึ้นมาบริหารประเทศแทนตน โดยใช้อำนาจเหตุผลแทนอำนาจอาวุธ

ด้วยเหตุนี้ ประเทศใดมีรัฐบาลของประชาชน อารยประเทศจึงมองว่าเป็นรัฐบาลที่แท้จริง เพราะเป็นผู้แทนประชาชนของประเทศนั้น เป็นรัฐบาลที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เชื่อถือได้ เนื่องจากมองว่าจะใช้เหตุผลสากลเหมือนกันในการพูดจา ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่เกทับกันอย่างในยุคโบราณ(ปัจจุบันนี้ หากประเทศใดนำมาใช้ เพราะเห็นว่าประเทศของตนมีแสนยานุภาพเหนือกว่า จะถูกประณามทันที)

สำหรับการเมืองการปกครองในปัจจุบัน(ประเทศส่วนใหญ่ต่างก้าวข้ามหรืออย่างน้อยกำลังก้าวข้ามยุคโบราณไปอยู่ในยุคอนุรักษ์ โดยมีบางส่วนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคก้าวหน้า) หากถามว่านิติธรรมคืออะไร ผมขอตอบสั้นๆว่า นิติธรรมคือเหตุผลสากลทางกฎหมายครับ

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์……ผู้เขียน

 

Categories: กฎหมายมหาชน, การศึกษา, การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , , | ใส่ความเห็น

ความเป็นธรรมกับนิติธรรม(ต่อ)และการปฏิวัติประชาชน

ความเป็นธรรมกับนิติธรรม

ความเป็นธรรมกับนิติธรรมไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากหรือซับซ้อนแต่อย่างใด แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่คนปรกติธรรมดาสามัญเข้าใจได้ทั้งสิ้น เพราะมนุษย์มีสามัญสำนึกทางความเป็นธรรมนั่นเอง มิฉะนั้น ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี(common law)เช่น อังกฤษ คงไม่ยอมให้คนธรรมดาร่วมพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาอาชีพในฐานะคณะลูกขุน(jury) หรือมิฉะนั้นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย เช่น ญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ก็คงไม่ยอมให้คนธรรมดาร่วมพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาอาชีพในฐานะผู้พิพากษาสามัญชน(saiban-in หรือ lay judges)

 

ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนว่า ความเป็นธรรมนั้น ในทางรัฐศาสตร์หมายถึงความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมโดยรวม ส่วนในทางนิติศาสตร์หมายถึงนิติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะกรณี และความเป็นธรรมสองลักษณะนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยต่างมีอิทธิพลบังคับซึ่งกันและกัน ไม่อาจแยกกันอยู่ตามลำพัง ดังสัจธรรมที่ว่า ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย หรือสังคมไม่อาจไร้กฎเกณฑ์

 

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงหมายถึงระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นธรรมทางสังคมและนิติธรรมควบคู่กันไปเสมอ หากแยกกันเมื่อใด ความเป็นนิติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมย่อมหายไปทันที เพราะจะเกิดสภาพไร้ขื่อแป หรือเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในบ้านเมืองนั่นเอง

 ความเป็นธรรมกับนิติธรรม

สำหรับประเทศไทยนั้น เห็นปรากฎการณ์ดังกล่าวได้จากกรณีมีประชาชนแสดงความคิดเห็นไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลและองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากกรณีมีความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองต่อเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร19กันยายน2549ขึ้นมาลบล้างรัฐธรรมนูญ2540 เพราะมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินไป

 

แต่การได้มาซึ่งอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ2550 ด้วยการทำรัฐประหารนั้น ได้ทำลายนิติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมของประเทศด้วย เนื่องจากการทำรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา มีโทษถึงประหารชีวิตทั้งสิ้น แต่นิรโทษกรรมให้กัน และศาลยอมรับประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายในการตัดสินคดีด้วย ล้วนเป็นการกระทำที่ทำลายนิติธรรมอย่างร้ายแรง ไม่อาจให้อภัยได้

 

ส่วนการใช้กำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งประชาชนเสียภาษีให้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ แต่กลับใช้สนองความต้องการเฉพาะบุคคลและกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไปจำนวนมากต้องเดือดร้อนทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อมนั้น เป็นการขัดหลักความเป็นธรรมทางสังคมอย่างชัดเจน

 

การร่างรัฐธรรมนูญ2550โดยมีวัตถุประสงค์ลดอำนาจฝ่ายบริหาร แต่เพิ่มอำนาจการตรวจสอบและยับยั้งการกระทำของฝ่ายบริหาร ให้แก่องค์กรอิสระต่างๆและศาลรัฐธรรมนูญมากเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น เหมือนมีเจตนาแสวงหาประโยชน์อันมิชอบให้กับตนเองและพวกได้โดยสะดวก พร้อมกับใช้เป็นเครื่องมือกำจัดนักการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตนด้วย เนื่องจากในทางปฏิบัติ ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านั้นได้เลย ทำให้มีการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงนิติธรรมสากลและหลักความเป็นธรรมทางสังคมซ้ำซาก ฝ่ายบริหารจึงไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างราบรื่น

 

ในขณะที่มีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นต่อเนื่อง และประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแฝงเจตนาร้ายต่อประเทศและประชาชนอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้คำนึงถึงความสมดุลทางความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นธรรมทางสังคมกับนิติธรรมและระหว่างนิติธรรมเรื่องสำคัญๆด้วยกัน อันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนย่อมรู้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีรัฐธรรมนูญของต่างประเทศเป็นตัวอย่างมากมาย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ

 

ปัญหาเบื้องต้นของประเทศไทยจึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะแก้ไขหรือปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เกิดความสมดุลดังกล่าว จะใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญ2550นี้หรือ ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เนื่องจากฝ่ายที่มีอำนาจบริหารไม่ยอมแสดงบทสิงห์โตเจ้าป่าให้สมกับที่มีอำนาจ แต่กลับถ่อมตัวเกินเหตุ ด้วยการแสดงบทลูกแกะอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนก็เป็นโรคปอดแหกกันไม่น้อย ในขณะที่รัฐธรรมนูญเปิดประตูให้หมาป่าทยอยเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และสามารถหาเหตุจับลูกแกะกินได้อย่างง่ายดาย ซึ่งลูกแกะยุคอีสปยอมแต่โดยดี

 

ในที่สุดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญไม่อาจพึ่งพารัฐบาล แต่คาดว่าไม่พ้นเป็นภาระของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งหากเปรียบประชาชนเหมือนลูกแกะ เพราะไม่มีเขี้ยวเล็บ แต่ล้วนเป็นลูกแกะยุคใหม่ มีความรู้ความเข้าใจประชาธิปไตยและความเป็นธรรมเป็นอย่างดี ที่สำคัญรู้จุดอ่อนของหมาป่าว่า ตกใจง่ายและมักวิ่งหนีเอาตัวรอด จึงเป็นไปได้ที่จะรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่เพื่อขับไล่หมาป่า พร้อมกับช่วยกันปรับปรุงกติกาดูแลป่าให้สงบร่มรื่นและเรียบร้อยได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ในต่างประเทศได้ทำสำเร็จมาแล้ว ที่เรียกกันว่า การปฏิวัติประชาชน (people revolution)

 

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

Categories: การเมือง, ผุ้สมัคร ส.ว.กทม. | ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , , | ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .