Posts Tagged With: mobile sovereignty

รัฐธรรมนูญเพื่อใคร : ตอน “อำนาจอธิปไตยมือถือ”

อธิปไตย แปลว่า “อำนาจสูงสุดของรัฐ” แสดงว่าในรัฐหนึ่งมีอำนาจอื่นๆอีก แต่เทียบกันแล้วอำนาจเหล่านั้นมีสถานะรองจากอำนาจอธิปไตย แต่ไม่ว่าเป็นอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจระดับรองลงไป ต่างก็เป็นปรากฎการณ์ทางสภาพบังคับในสังคมการเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลักสากลถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมการเมือง ในขณะที่แผ่นดินซึ่งมีอาณาเขตชัดเจน ประชากรที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินนั้นมีจำนวนมากพอเป็นสังคมการเมืองได้ และระบบการเมืองการปกครองเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์และทรัพย์สินในขอบเขตแผ่นดินนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ต่างก็เป็นองค์ประกอบด้วยเช่นกัน จึงมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพิงกันโดยอยู่ด้วยกันตามธรรมชาติของการดำรงสภาพความเป็นสังคมการเมือง ซึ่งเรียกว่ารัฐหรือประเทศ

แต่นักร่างรัฐธรรมนูญไทยมองอำนาจอธิปไตยคล้ายกับเป็นสิ่งของหรืออะไรสักอย่างซึ่งเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนมือได้ และประชาชนเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเท่ากับไม่ได้มองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมการเมือง แต่มองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองเท่านั้น ซึ่งหากผู้ใดเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้ นักวิชาบริกรจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยและขยายผล สั่งสอนผู้คนให้คล้อยตามมากมาย กลายเป็นทัศนคติของผู้คนและข้อมติที่ยากแก่การเปลี่ยนแปลง ในที่สุดพัฒนาหยั่งลึกเป็นรากเหง้าความขัดแย้งของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งมักเรียกกันว่าปัญหาโครงสร้างทางอำนาจ

อย่างไรก็ดี หากมองออกไปนอกสังคมการเมืองไทยเช่นในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น จะพบแนวคิดต่างและดูมีเหตุผลเป็นสากลน่ารับฟัง เพราะหากไร้แผ่นดินหรือโลกมีแต่น้ำ ย่อมไม่เพียงพอแก่พัฒนาการถึงขั้นเกิดมนุษย์ขึ้นมา

ทำนองเดียวกัน แผ่นดินซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นมากถึงระดับหนึ่งแล้ว อำนาจอธิปไตยย่อมปรากฎขึ้นมาตามธรรมชาติของสังคมการเมือง อำนาจอธิปไตยจึงต้องอาศัยอยู่กับประชาชนเสมอ เหมือนจิตกับกาย เพราะถ้าปราศจากประชาชนเมื่อใด อำนาจอธิปไตยย่อมหมดสภาพไปด้วยนั่นเอง ด้วยแนวคิดทำนองนี้ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นจึงระบุชัดว่าอำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชนซึ่งเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า แม้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าประเทศญี่ปุ่นมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระจักรพรรดิทรงเป็นประมุข แต่รัฐธรรมนูญแสดงนัยว่า ตำแหน่งประมุขของประเทศยังคงเหมือนเดิม ไม่ขัดกับหลักอำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน เพราะถือว่าตำแหน่งพระจักรพรรดิเป็นประเพณีทางการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญจึงระบุแต่เพียงว่าพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและความสามัคคีของประชาชน ตำแหน่งพระจักรพรรดิเกิดมาจากความประสงค์ของประชาชนและอำนาจอธิปไตยซึ่งอยู่กับประชาชนนั้นเอง การเข้าสู่ตำแหน่งเป็นไปตามกฎมนเฑียรบาลซึ่งรัฐสภาเป็นผู้อนุมัติ และพระจักรพรรดิทรงใช้พระราชอำนาจได้ในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ส่วนผู้ที่มองว่าอำนาจอธิปไตยเคลื่อนย้ายหรือแยกออกจากประชาชนได้ ใครมีกำลังเหนือกว่าสามารถนำไปไว้ที่ใด เพื่อให้สำแดงฤทธิ์เดชบังคับใครก็ได้นั้น ดูคล้ายๆกับผู้ที่เชื่อว่าผีมีจริง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผีสื่อสารกันเข้าใจ สามารถพาไปสิงสถิตที่ใดเพื่อประโยชน์ของตนได้นั้น ไม่ใช่แนวคิดของนักประชาธิปไตยอย่างนายพลแมคอาร์เธอร์และทีมงานร่างรัฐธรรมนูญให้คนญี่ปุ่นใช้

แต่เป็นแนวคิดของหมอผียุคดึกดำบรรพ์โน้น ซึ่งหมอผียุคปัจจุบันในคราบหลากหลายอาชีพและวิชาชีพ มักนิยมนำมาปรับใช้หากินกันในหมู่พวกพ้อง ด้วยวิธีการมองข้ามอำนาจอธิปไตยอำนาจประชาชน โดยวางมาตรการบ่อนทำลายประชาธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นในรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามหลักประชาธิปไตยสากลหรือไม่เมื่อใดดูยังห่างไกลนัก ตราบใดที่ยังมองอำนาจสูงสุดของรัฐเป็นเพียงอำนาจอธิปไตยมือถือ(mobile sovereignty)

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์
นักวิชาการปชช 13ต.ค.2555

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | ใส่ความเห็น

สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.