เจ้าหน้าที่รัฐคืออะไร และใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์

นอกจากรัฏฐาธิปัตย์แล้ว บุคคลใดที่รัฏฐาธิปัตย์แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ใดๆตามที่มีรัฐธรรมนูญก็ดีกฎหมายระดับต่างๆก็ดีกำหนด ย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวแต่งตั้งตามกฎหมายที่ให้อำนาจลดหลั่นกันด้วย หลักการคือ ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือไม่มีกฎหมายระดับต่างๆ บัญญัติระบุอำนาจหน้าที่ให้บุคคลหรือองค์กรใดกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดอันเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดของรัฐ ย่อมไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อการนั้น

 

มีข้อน่าสังเกตว่า ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดระบุถึงรัฏฐาธิปัตย์ เพียงแต่เริ่มต้นจากนักกฎหมายบางคนบางกลุ่มบางฝ่ายมองว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ควรได้รับการเรียกขานว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกตรวจสอบ ซึ่งผู้เขียนมองว่าน่าจะหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช(ไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจทั้งสามด้าน)เป็นสำคัญ รวมทั้งคณะรัฐประหารครั้งแรกอยู่ในฐานะนี้ราวสามวัน(24-26มิถุนายน2475) เพราะใช้อำนาจอาวุธยึดอำนาจสูงสุดของสถาบันพระมหากษัตริย์ไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคอยุธยาและปฏิบัติสืบกันมาถึงยุครัตนโกสินทร์ แต่ครั้งต่อๆมาคณะรัฐประหารไม่มีฐานะนั้นเลย นอกจากฐานะเป็นกบฏตลอดตั้งแต่วางแผนลงมือก่อการและสิ้นสุดลงในวันได้รับนิรโทษกรรม

 

เดิมประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีพระราชอำนาจสูงสุดทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยไม่มีบุคคลหรือองค์กรอื่นใดตรวจสอบ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจทั้งสามด้านนี้โดยตัวของสถาบันฯเองโดยสิทธิขาดตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช จึงไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล มองว่าคงถือตามแนวคิดสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมไม่กระทำผิด(King can do no wrong)

 

แต่การทำรัฐประหารครั้งแรกในยุครัตนโกสินทร์ ทำให้ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างลงชั่วคราวราวสามวัน(24ถึง26มิถุนายน2475) ซึ่งในช่วงนี้ คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แทนโดยสิทธิขาด เพราะไม่มีบุคคลและองค์กรใดมีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุล ดังนั้นในช่วงสั้นๆดังกล่าวหัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้ร่วมก่อการจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อเมื่อมีพระมหากษัตริย์ตามเดิม และมีการจัดระเบียบการใช้อำนาจใหม่ให้มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกใช้ชั่วคราว(มีผลบังคับตั้งแต่27มิถุนายน ถึง9ธันวาคม2475) ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชจึงสิ้นสุดลง แต่ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น มองว่าไม่ได้สิ้นสุดตามไปด้วย แม้มีการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ก็ไม่ทำให้ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ยุติลงหรือไปอยู่กับคณะรัฐประหารแม้แต่วันเดียว เพราะความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ดำรงอยู่ในรูปของประเพณีและนิติประเพณีทางการเมืองการปกครองของสังคมการเมืองไทย และอยู่ในฐานะนี้ต่อเนื่องมาตลอด เช่น กรณีจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง การลงพระปรมาภิไธยตรารัฐธรรมนูญกฎหมายและประกาศให้ใช้ การมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง การช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ ในขณะที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้มีผลให้คณะรัฐประหารได้ฐานะเป็นกบฏ(มีผลย้อนไปถึงช่วงวางแผน) แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษ ที่สำคัญการยอมรับพระราชอำนาจการตรารัฐธรรมนูญฉบับแรก ย่อมแสดงยืนยันความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของตำแหน่งและความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ชัดเจนแล้ว จึงไม่อาจมีบุคคลหรือองค์กรอื่นใดในประเทศมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมาคู่ขนานได้

 

ที่สำคัญ มีความชัดเจนว่า การทำรัฐประหารตั้งแต่ครั้งที่สองจนถึงครั้งปัจจุบัน เป็นเพียงการขับไล่หรือยุบคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา แม้จะล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ ย่อมไม่มีผลให้หัวหน้าคณะรัฐปรหารมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ดังเช่นการทำรัฐประหารครั้งแรกในยุคที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช แต่การทำรัฐประหารในยุคใช้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นสถาบันทางการเมืองการปกครองสูงสุดของประเทศต่อเนื่องตลอด ศาล และกระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับผลกระทบ กระบวนการยุติธรรมยังคงปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ตามเดิมต่อบุคคลทั่วไป เพียงแต่ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ต่อคณะรัฐประหารในความผิดฐานกบฏ เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาไม่กล้าจับกุมผู้บังคับบัญชาของตนที่เข้าร่วมก่อการ(ยกเว้นในอนาคตใช้ระบบตำรวจท้องถิ่นเป็นหลักแทนระบบตำรวจแห่งชาติ น่าจะทำให้ผู้จะทำรัฐประหารคิดหนักมากขึ้น และอาจทำได้ไม่ง่ายอย่างครั้งก่อนๆจนอาจมองได้ว่า การเข้าสู่อำนาจรัฐโดยใช้อำนาจอาวุธเป็นลัทธิการเมืองประเภทรัฐประหารนิยมไปแล้วหรือไม่)

 

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐประหาร2557รัฐธรรมนูญชั่วคราว2557นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารหรือคสช. และให้มีอำนาจหน้าที่ตามม.44ด้วย ฐานะเป็นกบฏตั้งแต่เริ่มวางแผนจึงยุติลง ใครเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาแต่เดิมก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจตามม.44ต่อไป อนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐในที่นี้เป็นคำกลางๆซึ่งอาจเรียกชื่อต่างๆขึ้นอยู่กับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายใด เหมือนมะม่วงเป็นคำกลางๆ ย่อมเรียกชื่อเฉพาะแตกต่างกันไปได้หลากหลายชื่อตามสายพันธุ์

 

เมื่อคสช.กับหน.คสช.ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยใช้อำนาจม.44 แม้จะมุ่งหวังให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร และในทางตุลาการ แต่ไม่อาจทำให้ผู้ใช้อำนาจตามม.44กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอยู่แล้ว เพราะกระบวนการยุติธรรมยังมีอำนาจตรวจสอบอยู่ โดยเฉพาะอำนาจตุลาการยังมีอยู่ตามปรกติ และสามารถใช้อำนาจในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในขณะที่การใช้อำนาจตามม.44โดยมุ่งหวังจะให้มีผลในทางตุลาการ ไม่อาจหลีกพ้นการใช้อำนาจในชื่อหัวหน้าคณะรัฐประหาร ความไม่ชอบด้วยนิติธรรมสากลจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้ไม่อาจลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอำนาจตุลาการจริง อันเกิดจากเหตุผลสากลทางกฎหมายได้ เพราะโดยหลักกระบวนการทางศาลเป็นเรื่องการใช้เหตุผลสากลทางกฎหมาย ส่วนการใช้ม.44เพื่อให้เกิดผลทางตุลาการนั้น เหมือนใช้กระบวนการทางอำนาจอาวุธ ซึ่งทั่วโลกเลิกใช้ไปนานมากแล้ว(ปัจจุบันหาดูได้ในหนังที่มีการดำเนินเรื่องเกี่ยวโยงการเมืองการปกครองยุคโบราณของบางประเทศ) เพราะถึงจะใช้อย่างไรย่อมไม่ได้ผลทางตุลาการจริงๆ แต่จะให้ผลในทางบริหารทุกครั้งไป เนื่องจาก(1)ในสังคมการเมืองยุคใหม่(ประเทศที่เข้าสู่ยุคก้าวหน้า)ไม่มีใครกล้าคิดยึดอำนาจตุลาการ(แม้มีบางประเทศกล้าทำ แต่ได้ผลแค่ไล่ตุลาการจำนวนมากออกไป ในขณะที่อำนาจตุลาการยังคงอยู่เหมือนเดิม และไม่ขาดคนมาแทน) (2)คณะรัฐประหารตั้งแต่คณะที่สองเป็นต้นมาถึงคณะปัจจุบันไม่มีช่วงเวลาใดมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้เลย เพราะมีอำนาจตุลาการในระบบตรวจสอบและถ่วงดุลปรากฏอยู่ตลอด เนื่องจากคณะรัฐประหารไม่อาจยึดอำนาจตุลาการ (3)การตรวจสอบเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล เมื่ออำนาจตุลาการยังมีอยู่ตลอด ผู้ใช้อำนาจตามม.44จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจตามม.44เท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อีกทั้งไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดมาอ้างว่าผู้ใช้อำนาจม.44มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์

 

หากยังหลงยุคย้อนไปถึงการทำรัฐประหารในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และมองว่าคณะรัฐประหารเหล่านี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจทำอะไรตามที่คิดเอาเอง แม้ทำไม่ถูกไม่เป็นธรรมก็ถือว่าถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมาย หรือถือว่าเป็นกฎหมาย แล้วหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ย่อมเป็นมุมมองที่ห่างไกลหรือคลาดเคลื่อนจากเหตุผลสากลทางกฎหมายอย่างชัดเจน ถึงขั้นมีผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นคนของประชาชนได้อย่างแน่นอน(ยุคสมัยและกรอบแนวคิดเปลี่ยนไปแล้ว การตีความใช้กฎหมายย้อนยุคย้อนกรอบแนวคิด ย่อมมีผลต่อการให้เหตุผลทางกฎหมายเพี้ยนไป และอาจมีกรณีที่ยากแก่การยอมรับของประชาชนยุคใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนในสังคมการเมืองยุคใหม่จึงไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควรหรือถึงขั้นได้รับความเดือดร้อนจากการใช้สิทธิเสรีภาพฯลฯ)

 

อนึ่ง การใช้อำนาจม.44 ในขณะที่ยังมีอำนาจตุลาการคอยตรวจสอบ แม้ยังต้องรอกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นและเบื้องกลางดำเนินการตามขั้นตอน แต่ย่อมแสดงยืนยันเป็นที่ประจักษ์ได้แล้วว่าอำนาจม.44ไม่ใช่อำนาจสูงสุดถึงขั้นถือได้ว่าผู้ใช้อำนาจมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะโดยหลักแล้วมีฐานะเพียงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือม.44ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์หรือในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ตราขึ้น และทรงประกาศให้ใช้บังคับ โดยมีหน.คสช.และนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจได้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ2560เข้ารับหน้าที่

 

ดังนั้น หากไม่ถือว่าหน.คสช.และนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ผู้คนจำนวนไม่น้อยย่อมอยากรู้ว่าบุคคลในวงการกฎหมายและนิติศาสตร์รัฐศาสตร์จะมองตรงกันว่ามีฐานะเป็นอะไรแน่ ในเมื่อมีความชัดเจนว่าคสช.เป็นองค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญ2557และหัวหน้าคสช.ไม่มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ตลอดมา

 

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์……ผู้เขียน
ใจความจากFb/Pornchai Rasmibaedya/5/9/2562

Categories: กฎหมายมหาชน, การเมือง | ป้ายกำกับ: , | ใส่ความเห็น

#นิติประเพณีคืออะไร

นิติประเพณี

ตัวอย่างชัดๆ เช่น มวยไทยใช้หมัดเท้าเข่าศอกเป็นอาวุธต่อสู้กัน แม้ทำให้คู่ต่อสู้ถึงตาย คู่ต่อสู้อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีความผิดกฎหมายอาญาฐานฆ่าผู้อื่น(ที่จริงเป็นเรื่องขาดเจตนาฆ่านั่นเอง) เพราะเป็นการชกมวยไทยและเป็นนิติประเพณี แต่ถ้าเข้าประชิดตัวคู่ต่อสู้แล้วใช้ปากเป็นอาวุธ กัดหูจนใบหูเขาขาดวิ่นไป ไม่ใช่การชกมวยไทยและไม่ใช่นิติประเพณี แต่เป็นการทำร้ายร่างกายเขา จึงมีความผิดกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกาย

อนึ่ง ตัวอย่างที่อาจมองว่าเป็นนิติประเพณีนั้น แต่ละประเทศแต่ละยุคสมัยอาจเหมือนกันหรือต่างกันหรือเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การดวลดาบเพื่อผดุงเกียรติยศศักดิ์ศรีมีในบางประเทศบางยุค แม้ถึงตายก็เอาผิดตามกฎหมายไม่ได้ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ในขณะที่บางคนอาจมองว่า การดวลปืนเป็นนิติประเพณี แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เนื่องจากเป็นการใช้หลักกฎหมายอาญาว่าด้วยการป้องกันตัวให้พ้นอันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางเลือกอื่น เพราะผู้ตายชักปืนก่อน แต่อีกฝ่ายชักปืนและเหนี่ยวไกเร็วกว่า จึงป้องกันตัวสำเร็จ ฝ่ายที่ชักปืนก่อนจึงตายฟรี ฯลฯ อย่างไรก็ดี การแยกแยะว่ากรณีใดเป็นนิติประเพณีหรือไม่ บางกรณีอาจไม่ง่ายนัก ผู้คนต่างถิ่นต่างยุคหรือแม้อยู่ในยุคเดียวกัน จึงอาจมองต่างกันได้เป็นธรรมดา

ปัจจุบันนิยมบัญญัติกฎหมายมาใช้แทน เพราะมีความชัดเจนกว่า กรณีที่ครั้งหนึ่งผู้คนมองว่าเป็นนิติประเพณี จึงกลายเป็นเรื่องขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไปก็หลายกรณี หรือยอมรับไปบัญญัติเป็นกฎหมาย หรือกลายเป็นหลักของกฎหมายไปแล้วก็มี

สำหรับประเทศไทยเหลือนิติประเพณีไว้แค่มวยไทยก็พอ หากเอากรณีที่กลายเป็นหลักของกฎหมายไปแล้วมาเป็นนิติประเพณี เกรงว่าจะขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ตีความใช้กฎหมาย ควรท่องคาถาอาญาม.157ก่อนทุกครั้ง จะได้มองกรณีใดเป็นนิติประเพณี กรณีใดเป็นกฎหมายแล้ว สำหรับใช้วินิจฉัยความถูกผิด เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมด้วยความระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีความละเอียดและอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดเรื่องความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมของผู้คนในสังคม เพราะ #นิติประเพณีคือประเพณีที่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่และความรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดใดๆระหว่างบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง[ทั้งโดยตรง(บรรดาคู่กรณีทั้งหลาย)และโดยทางอ้อม(ผู้คนในสังคม)]

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

 

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , | ใส่ความเห็น

นิพพานคืออะไร

 

มองว่านิพพานไม่ใช่เรื่องของจิตอย่างเดียว แต่มีกายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลา กายคืออวัยวะต่างๆที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและความเป็นตัวตนตามที่รู้เห็นกัน ส่วนจิตคือคิดหรือความคิด ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาของจิตนั่นเอง จิตมีความสัมพันธ์กับกายในส่วนสมองเป็นสำคัญ และสมองเป็นระบบเปิดด้วย หากสมองมีปัญหา จิตย่อมบกพร่อง แต่จิตก็อาจบกพร่องเพราะเหตุอื่นๆอีกมากหลากหลาย หาข้อสรุปเป็นที่ยุติชัดเจนแล้วก็มี ยังไม่ชัดเจนก็มาก ในขณะที่มนุษย์มีความรู้ด้านสมองไม่มากนัก ว่ากันว่าเพียงประมาณร้อยละห้า(มองว่าคงอีกนานมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายสมอง)

ดังนั้น กายกับจิตจึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน และเป็นระบบ อีกทั้งการทำความเข้าใจต้องใช้ศาสตร์หลากหลายสาขาประกอบกันด้วย ได้แก่ (1)วิทยาศาสตร์ เช่น ชีววิทยา เคมี อินทรีย์เคมี ฯลฯ (2)สังคมศาสตร์ เช่น ศึกษาศาสตร์ วัฒนธรรม ฯลฯ (3)วิทยาการสิ่งแวดล้อม ทั้งส่วนที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งส่วนที่จับต้องได้และไม่ได้ (4)กระบวนการวิวัฒน์ พัฒนาการ และเทคโนโลยี ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กันและมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดเวลา มนุษย์จึงทำความเข้าใจได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

การทำจิตให้อยู่ในภาวะว่างเปล่าหรือเรียกว่านิพพาน จึงไม่ใช่หยุดกระบวนการทำงานของจิตโดยใช้พิธีกรรมตามลัทธิความเชื่อต่างๆ แต่น่าจะหมายถึงช่วงเวลาปรับความคิดให้หลุดพ้นหรือออกห่างจากกาย ซึ่งอาจเป็นไปโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติเองหรือตั้งใจทำ และขยายช่วงเวลานี้ให้กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ ก็อาจถึงระดับที่ถือว่าเข้าถึงนิพพานได้ ซึ่งไม่มีคนอื่นใดบอกได้ นอกจากจิตของผู้นั้นเอง

อย่างไรก็ดี การเข้าถึงนิพพาน คนปรกติทุกคนย่อมเริ่มต้นเข้าถึงได้ทันทีที่มีสมาธิคิดแต่เรื่องที่เป็นกลางๆ เรื่องที่บุคคลใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับโลกหรือไกลกว่านี้ ไม่ว่าจะคิดในกรอบตามระเบียบวิธีหรือนอกกรอบก็ตาม ที่สำคัญต้องไม่คิดถึงตนเองและพวกเลยในขณะนั้น

ดังนั้น จึงนิยามได้ว่า นิพพานคือภาวะว่างเปล่าของจิตมนุษย์ มีลักษณะเป็นสากล ไม่มีลัทธิศาสนาหรือความเชื่อใดผูกขาดได้ เพราะมีได้หรือปรากฏแก่จิตของทุกคนได้ ไม่ว่ามีเจตนาหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าใคร หากคิดเรื่องอื่นๆในลักษณะดังกล่าวข้างต้น(เป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพ้อฝัน) ภาวะทางจิตที่ว่างเปล่าย่อมปรากฏขึ้นได้เช่นเดียวกัน เหมือนภาวะทางจิตของผู้ที่กำลังอ่านบทความสั้นๆนี้เป็นเบื้องต้นครับ

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

Categories: ศาสนา | ป้ายกำกับ: , , , | ใส่ความเห็น

#ความชอบธรรมคืออะไร

 

มีข่าวสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งทดสอบความเข้าใจของนักศึกษาเรื่องความชอบธรรมโดยตั้งคำถามและเฉลยคำตอบคาดเคลื่อนมากไปจนอาจมองว่า มีส่วนเป็นอุปสรรคขวางพัฒนาการประชาธิปไตย และบั่นทอนคุณค่าของความเป็นสถาบันการศึกษาหรือไม่

ที่จริงน่าจะมองว่า ความชอบธรรมเป็นเรื่องหลักการกว้างๆและกว้างกว่าตัวบทของกฎหมาย โดยตัวบทของกฎหมายต้องอยู่ในกรอบของหลักการนี้ เพราะ “ความชอบธรรมคือความถูกต้องหรือความเป็นไปตามนิติธรรมหรือหลักของกฎหมายหรือเหตุผลสากลทางกฎหมาย” ซึ่งมีนัยของหลักความเป็นธรรมทางสังคมเป็นพื้นฐานด้วย ลอยอยู่ตามลำพังไม่ได้ ความชอบธรรมจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนปรกติทั่วไปมีสามัญสำนึกตรงกันได้ในเรื่องการทำถูกผิด ชั่วดี ความสมเหตุสมผล ความเป็นธรรมไม่เป็นธรรม

ส่วนความชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องดูตัวบทของกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกฎหมายด้วย เพราะ “ความชอบด้วยกฎหมาย คือการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกฎหมาย” เป็นรายละเอียดย่อยลงไปเป็นเรื่องๆ ที่ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ จะใช้แต่สามัญสำนึกไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวบทของกฎหมายต้องอยู่ในกรอบนิติธรรม ไม่ใช่คิดจะเขียนตัวบทอะไรก็เขียนกันได้ตามอำเภอใจ การทำนิติบัญญัติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย บางเรื่องบางประเทศต้องลงทุนทำวิจัยเป็นแรมปีจึงสรุปผลว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายเรื่องนั้นหรือไม่ หากผลวิจัยชี้ชัดว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายในเรื่องนั้น เช่น การป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ ผลวิจัยชี้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย ก็ต้องค้นหาแนวทางอื่น เช่น ค้นคว้าหาตัวยา เป็นต้น แต่ถ้าผลวิจัยชี้ว่าสมควรมีกฎหมาย จึงเริ่มสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป(กระบวนการทางรัฐสภาที่มีผู้แทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่) ด้วยเหตุนี้ความชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นความชอบธรรมไปในตัว

ส่วนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองการปกครองด้วยการทำรัฐประหารแล้วตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ แม้มีศาลสูงสุดพิพากษารับรองการทำรัฐประหารสำเร็จ ถือว่าผู้ทำเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ผู้นั้นมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ(ตามแนวคิดทางกฎหมายของประเทศนักล่าอาณานิคมใช้กับผู้คนชาวอาณานิคมของตน)ก็ตาม แต่หากไม่มีกฎหมายใดยอมรับหรือให้ศาลใช้วินิจฉัยคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ระบุให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีตามตัวบทกฎหมาย แต่ไม่มีตัวบทกฎหมายว่าด้วยความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ให้ศาลใช้พิจารณาคดี กฎหมายใกล้เคียงที่สุดและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ระบุชัดพอจะเทียบเคียงได้ก็ไม่มี คงมีแต่กฎหมายอาญาระบุความผิดฐานล้มล้างรัฐบาล แต่ศาลไม่นำไปใช้พิจารณาคดี จึงมีข้อสังเกตว่า คำพิพากษาในลักษณะดังกล่าว ชอบด้วยตัวบทกฎหมายได้อย่างไร และมีผลให้การทำรัฐประหารชอบธรรมหรือชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร

ในขณะเดียวกันจะนำแนวคิดการนิ่งเฉย หรือไม่โต้แย้ง ถือว่ายอมรับมาใช้ไม่ได้ เพราะการใช้อำนาจอาวุธเป็นการกระทำตามความประสงค์ของตัวบุคคล ประชาชนกลัวอำนาจอาวุธฝังหัวต่อเนื่องมานานตามแบบสังคมการเมืองยุคโบราณ จึงโต้แย้งไม่ได้ นิ่งเฉยเพื่อความปลอดภัยดีกว่า ซึ่งต่างกับโต้แย้งได้ แต่ไม่โต้แย้ง การนิ่งเฉยเช่นนี้จึงอาจมองว่ายอมรับก็ได้

ครั้นมาถึงสังคมการเมืองยุคใหม่ ใช้เหตุผลสากลทางกฎหมายหรือนิติธรรมเป็นหลักปกครองประเทศ แต่นักกฎหมายหลายประเทศยังเผลอนำแนวคิดทางการเมืองการปกครองของประเทศนักล่าอาณานิคมมาปรับใช้(การใช้อำนาจอาวุธข่มขู่หรือขับไล่รัฐบาลของประเทศใดแล้วเข้าปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนในฐานะอาณานิคม ย่อมขาดความชอบธรรมมาแต่ต้น การใช้แนวคิดความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ตนใช้อำนาจนิติบัญญัติบริหารและตุลาการปกครองอาณานิคมและดูดี ดีกว่าถูกมองว่าเป็นโจรเข้าไปปล้นบ้านเมืองเขากิน นั่นเอง) กรณีจึงเจือสมกันสนับสนุนการทำรัฐประหารเป็นวิธีการพิเศษสำหรับแก้ปัญหาการเมืองการปกครองของประเทศ ซึ่งโดยหลักนิรโทษกรรมแล้ว ทำไม่ได้ เพราะผู้กระทำยังมีทางเลือกอื่น คือใช้วิธีการทางการเมืองการปกครองตามปรกติ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีวาระแน่นอน ถึงเวลาก็ให้ประชาชนตรวจสอบด้วยการเลือกตั้งทั่วไป และหากบุคคลใดในคณะรัฐบาลทำผิดกฎหมายไม่ว่าในขณะดำรงตำแหน่งหรือหมดวาระไปแล้ว ย่อมสามารถนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจอาวุธขับไล่ เพราะหากไล่ไม่ไป แต่ต่อสู้ด้วยกำลัง ความเดือดร้อนย่อมตกแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้การทำรัฐประหารไม่มีเหตุผลทางกฎหมายเพียงพอแก่การได้รับนิรโทษกรรม แต่เพื่อความสงบทางการเมือง จึงควรนำเหตุผลทางการเมืองมาใช้อภัยโทษผู้ทำรัฐประหารโดยให้ดำรงสิทธิต่างๆตามกฎหมายเหมือนผู้คนทั่วไป มองว่าน่าจะมีผล(1)ให้การทำรัฐประหารลดลงบ้างหรืออาจหมดไป (2)รักษาระบบนิติธรรมของประเทศไว้ได้ แต่การอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ

อนึ่ง มองว่า ความชอบธรรมมีลักษณะเดียวเท่านั้นตามที่กล่าวข้างต้น จึงไม่อาจมองทางบวกเต็มร้อยแก่รัฐบาลที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาบริหารประเทศ เพราะเกี่ยวเนื่องกัน รัฐบาลที่มาด้วยวิธีพิเศษมีความชอบธรรมตามกฎหมายตามคำเฉลยจึงเป็นเพียงวาทกรรม ไม่ใช่หลักการสากล เพราะไม่ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลตามเหตุผลสากลทางกฎหมายนั่นเอง

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า สังคมการเมืองยุคใหม่ที่อำนาจเหตุผลเข้ามาแทนที่อำนาจอาวุธแล้ว โดยหลักการเข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษดังกล่าวย่อมไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ทางปฏิบัติจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในสังคมการเมืองที่ยังหลงยุค มีเรื่องที่ผิดแต่มองเป็นถูกและเออออเฮฮาหาประโยชน์ส่วนตัวกันไปมีมาก ล้วนบั่นทอนพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ แต่จะค่อยๆลดลงจนหมดไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้คนที่เข้าใจถูกต้องมีเพิ่มขึ้นทุกๆปี ซึ่งมองว่าสถาบันการศึกษาแบบทางการน่าจะมีบทบาทสำคัญมากในลำดับต้นๆ

เพียงแต่บุคลากรหลักในสถาบันการศึกษาต้องไม่คล้อยตามทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของผู้คนในสังคม เพราะจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจผิดคิดว่าถูกต้อง หรือสำคัญผิดคิดว่าเป็นหลักการอันควรยึดถือ ซึ่งเท่ากับปิดประตูการศึกษาและพัฒนาการสู่ปฏิบัติการสร้างเสริมให้ประเทศมีประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต แม้เป็นงานที่ต้องใช้เวลายาวนาน ต้องใช้งานวิจัยที่ตรงประเด็นอีกนับไม่ถ้วน เป็นงานยาก แต่ล้วนเป็นงานชี้นำทางที่ถูกต้องให้แก่สังคม มองว่าสถาบันการศึกษาจะปฏิเสธบทบาทหน้าที่และคุณค่าของตนในเรื่องดังกล่าวได้หรือครับ

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์……ผู้เขียน

Categories: การศึกษา, การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , | ใส่ความเห็น

ประชาธิปไตยคืออะไร

 

มองว่าความเข้าใจประชาธิปไตยแตกต่างกันไม่เป็นผลดีต่อการเมืองการปกครองของไทย เพราะน่าจะมีส่วนทำให้(1)เกิดรัฐประหารบ่อยๆเฉลี่ยประมาณ7ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งจะถือโอกาสร่างรัฐธรรมนูญกำหนดแนวทางการเมืองการปกครองตามแนวคิดของตนได้ (2)ผลิตรัฐธรรมนูญออกมาใช้จำนวนมากเฉลี่ยประมาณ4ปีต่อฉบับ อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับ แม้มีสาระสำคัญและรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ใช้ชื่อ“ประชาธิปไตย”ได้หมด จึงมองว่าความเข้าใจประชาธิปไตยแตกต่างกันน่าจะมีส่วนทำให้ประเทศไทยผลิตรัฐธรรมนูญออกมาใช้ถึง20ฉบับในช่วงเวลา86ปี นับแต่มีรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ24มิถุนายน2475 และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่27เดือนปีเดียวกัน ที่สำคัญ ความแตกแยกทางความคิดประชาธิปไตยน่าจะมีส่วนทำให้การเมืองการปกครองของไทยไม่อาจพัฒนาสู่การมีรัฐบาลของประชาชน(democracy)ได้ทั้งระบบอีกด้วย หากสภาพนี้ยังดำรงอยู่ จะผลิตรัฐธรรมนูญออกมาใช้อีกนับร้อยนับพันฉบับ ประชาธิปไตยย่อมมีไม่ได้ เนื่องจากประชาธิปไตยกับรัฐบาลของประชาชนต้องเกิดและพัฒนาเดินหน้าไปด้วยกันนั่นเอง

แต่จะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนทุกระดับทุกประเภททุกฝ่าย นักการเมือง และประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยตรงกันหรืออย่างน้อยใกล้เคียงกันให้ได้รวดเร็ว มองว่าการให้นิยามของประชาธิปไตยต้องครอบคลุมองค์ประกอบของรัฐเอกราชที่เป็นรัฐยุคใหม่ ซึ่งโดยหลักสากลประกอบด้วยดินแดนรัฐมีขอบเขตชัดเจน อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ประชาชนทั่วไปของรัฐ และมีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน

ดังนั้น ประชาธิปไตยน่าจะมีนิยามว่า “ประชาธิปไตย คืออำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครองซึ่งรัฐบาลของประชาชน(democracy)เป็นผู้ใช้ภายในเขตดินแดนรัฐเอกราช” เพราะประชาธิปไตยเป็นคำประเภทแนวคิด(concept) เพื่อให้มีความชัดเจนและเข้าใจตรงกันหรือใกล้เคียงกันให้มากที่สุด จึงต้องกำหนดกรอบแนวคิด(conceptual framework)ครอบคลุมองค์ประกอบของความเป็นรัฐเอกราช จะได้ไม่มองประชาธิปไตยต่างกันคนละทิศคนละทาง เพียงแต่อาจมีรายละเอียดต่างกันบ้าง มากหรือน้อยเป็นธรรมดา ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคสร้างรัฐบาลของประชาชนและประชาธิปไตย

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า 1)รัฐบาลของประชาชนหรือdemocracyไม่ได้หมายความแต่เพียงคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ด้านบริหารอย่างที่นิยมเรียกกัน แต่รวมถึงรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดคดีความด้วย ซึ่งองค์กรและบุคคลเหล่านี้โดยหลักแล้วมีฐานะเป็นผู้แทนประชาชนทั่วไปของรัฐ ไม่ใช่ผู้แทนของคนใดกลุ่มชนใดกลุ่มอาชีพใดหรือชนชั้นใดในรัฐ

2)ประชาชนทั่วไปของรัฐ หมายความว่าผู้คนทั้งหลายที่มีฐานะเท่าเทียมกันเป็นหลัก ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เหนือประชาชน เช่น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ทหารในขณะติดอาวุธตามหน้าที่(โดยหลักสากลประชาชนที่ติดอาวุธไม่ถือว่าเป็นประชาชนอีกต่อไป แต่อาจอยู่ในฐานะทหาร หากเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในรูปแบบต่างๆของรัฐ อาจอยู่ในฐานะผู้ก่อการร้ายหรือฐานะกบฎ) อย่างไรก็ตาม ทหารอาจเปลี่ยนฐานะเป็นกบฎได้ หากใช้อาวุธดำเนินการล้มล้างรัฐบาล แต่ปรกติเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท(รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร)ในอีกฐานะหนึ่งเป็นประชาชนทั่วไปของรัฐ

3)ความเป็นผู้แทนของประชาชนเกิดจากหลักการตรวจสอบโดยประชาชน ซึ่งมี2ลักษณะ (1)การตรวจสอบโดยตรงหรือทางอ้อม ด้วยวิธีเลือกตั้งทั่วไปโดยตรงหรือเลือกตั้งทางอ้อม (2)ใช้วิธีให้ความเห็นชอบโดยตรงหรือทางอ้อม

สำหรับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชนอาจเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง การเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรง หรือทางอ้อมโดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง

ส่วนฝ่ายตุลาการนั้น ประชาชนไม่อาจตรวจสอบความรู้ด้านกฎหมายของผู้สมัครได้โดยตรง ต้องใช้ตุลาการผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรวจสอบ แต่ประชาชนต้องให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งอาจให้ความเห็นชอบโดยตรงหรือให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบก็ได้ เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติด้านความน่าไว้วางใจในการทำหน้าที่ตุลาการ เมื่อตุลาการได้ปฏิบัติหน้าที่จนครบช่วงเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น การมีระบบลูกขุน(เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร) หรือมีคนธรรมดาเข้าร่วมกับตุลาการอาชีพพิจารณาพิพากษาคดี(เช่น ในประเทศญี่ปุ่น) มองว่าการให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปตรวจสอบตุลาการขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ไม่ได้ทำทุกคดี แต่มีส่วนทำให้ฝ่ายตุลาการมีความเป็นผู้แทนของประชาชนมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความเป็นผู้แทนจริงๆของรัฐบาลของประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะ (1)รัฐต้องมีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสนับสนุนประชาธิปไตยและรัฐบาลของประชาชนสอดคล้องต้องกันชัดเจนตรงประเด็น (2)ประชาชนผู้อาสาสมัคร ไม่ว่าในนามพรรคการเมืองก็ดี ในนามตนเองก็ดี ต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจนโยบายของตนแก่ประชาชน และไม่ทำตัวเป็นผู้ทรงอิทธิพลเหนือประชาชน แต่ต้องให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและตัดสินใจเลือกนโยบายได้อย่างอิสระ โดยทำตัวเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป (3)กฎหมายและผู้กำกับดูแลต้องไม่เปิดช่องให้ผู้ทรงอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เหนือประชาชน ดำเนินการจูงใจในทางที่ผิด เช่น ซื้อเสียง ข่มขู่ ใช้ระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ เพราะจะทำให้ประชาชนไม่มีอิสระในการตัดสินใจ และต้องจมปลักอยู่ใต้รัฐบาลของผู้ทรงอิทธิพล หรืออยู่ใต้รัฐบาลของกลุ่มชน กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มค้ำชูพวกพ้องญาติสนิทมิตรสหายสบายกันไป สังคมการเมืองที่มีรัฐบาลลักษณะนี้ ชี้ชัดว่าไม่มีประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยกับรัฐบาลของประชาชนต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกัน เกิดก่อนหลังกันไม่ได้ จึงเป็นธรรมดาที่ประชาธิปไตยมีไม่ได้ ตราบใดที่ไม่มีรัฐบาลของประชาชน เช่น สยามประเทศมีแต่รัฐบาลของผู้ทรงอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจเหนือประชาชนตลอดมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน การหาประชาธิปไตยจึงทำได้แค่ค้นตำรา

แต่อย่างไรก็ตาม สยามประเทศ มีรัฐประหารครั้งแรกเมื่อ24มิถุนายน2475 แม้มีความคิดประชาธิปไตยปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่เมื่อไม่มีรัฐบาลของประชาชน เพราะประชาชนไม่รู้เรื่อง ประชาชนเป็นเพียงฝ่ายถูกอ้างให้คณะผู้ก่อการดูดีดูขลัง ในชื่อคณะราษฎร (มีข้อน่าสังเกตว่า วิธีการตั้งชื่อทำนองนี้ พรรคการเมืองซึ่งเกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ดได้นำมาใช้ตั้งชื่อพรรคของตน แต่การกระทำเพื่อประชาชนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คงต้องดูผลงานและพฤติกรรมการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ) ประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงความคิด และมีอันต้องยุติไปอย่างสิ้นเชิง เดินต่อไม่ได้เนื่องจากมี(1)ความแตกต่างทางความคิดประชาธิปไตยในระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองระดับสูงในช่วงเวลานั้น (2)การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่สองเมื่อ10ธันวาคมปีเดียวกัน รวมเวลาที่คณะราษฎรดำรงความคิดประชาธิปไตยในมุมมองของตนไว้ได้เพียง5เดือน13วัน ทำอะไรไม่ได้ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่า ขาดยุทธศาสตร์ ขาดความรอบคอบ และใช้ยุทธวิธีผิดพลาด เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่พร้อมที่จะมีส่วนร่วมสร้างรัฐบาลของประชาชนนั่นเอง รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีข้อความยืนยันความไม่พร้อมนี้ชัดเจน รัฐบาลที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน และมีลักษณะนี้สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น หากมองในแง่การก่อกำเนิดและริเริ่มพัฒนาประชาธิปไตยในแนวคิดของคณะราษฎร รัฐประหารครั้งแรกเสียของ เพราะแม้มีความคิดดี จริงใจ กล้าหาญ แต่ทำผิดวิธีย่อมก่อความเสียหายต่อเนื่องยาวนานได้

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาจนถึงฉบับปัจจุบัน(ฉบับที่20)เหมือนลอกกันต่อๆมา แม้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แต่ประชาธิปไตยยังคงเป็นเพียงชื่อเรียกขานให้รัฐธรรมนูญดูดีแค่นั้นเอง เพราะเนื้อหาสำคัญมีส่วนที่ไม่ใช่ ไม่สอดคล้องกับชื่อ ที่สำคัญต่อมามีการมองข้ามหลักการสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น มีนิรโทษกรรมการทำรัฐประหารไว้ด้วย ความเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศจึงหดหายหมดสิ้น ใครมีอำนาจอาวุธจึงทำรัฐประหารตั้งรัฐบาลของตนเองได้ และฝ่ายตุลาการยอมรับ เรื่องผิดกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นหลักและวิธีการพิเศษในการแก้ปัญหาของประเทศและการเปลี่ยนรัฐบาลในส่วนของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา มองว่าน่าจะมีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้ใหญ่หลายคนหลายประเภทแทบทุกฝ่ายรวมทั้งพระชั้นสูงตามกฎหมายสงฆ์หลายรูปด้อยประสิทธิภาพและคุณธรรม มีข่าวคดีคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นแพร่หลายทั่วประเทศ เกิดปรากฎการณ์นักการเมืองด้อยคุณภาพอุดมการณ์เสื่อมถอยพร้อมกับความชรามีเพิ่มแต่ตายยาก ในขณะที่นักการเมืองรุ่นใหม่(ผู้คนทุกวัยที่มีความคิดก้าวหน้าทันยุคสมัยหรืออาจมีผู้ก้าวล้ำยุคไปไกลแล้วก็ได้) ยังไม่ทันมีบทบาท รัฐธรรมนูญไทยกลับถอยหลังย้อนยุคไปไกลกู่กลับยากเสียแล้ว อีกทั้งมีรัฐธรรมนูญประเภท two in one หรือเหมือนมีสองรัฐบาลพร้อมกันได้ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียว ตามด้วยเสียงวิจารณ์กันว่า แก้ไขยากกว่าเคลื่อนย้ายบ้านพักตุลาการทั้งหลังออกจากป่าแหว่งเชิงดอยสุเทพไปไว้บนพื้นราบหลายเท่า แต่สำหรับผู้เก่งกล้าอาจรู้ช่องทางและมองว่าไม่ยากก็ได้ใครจะไปรู้

เพราะฉะนั้น อย่าถามว่าตั้งแต่รัฐประหารครั้งแรกถึงปัจจุบัน(86ปีแล้ว) ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือยัง เพราะประชาธิปไตยจริงๆยังเกิดไม่ได้เลย จะเอามาจากไหนไปพัฒนาให้สมบูรณ์ แต่ถ้าต้องการหาคำตอบที่ตรงประเด็น เนื่องจากประเทศใดจะเป็นประชาธิปไตยได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยเข้าใจประชาธิปไตยให้ตรงกันหรืออย่างน้อยใกล้เคียงกันให้มากที่สุดก่อน ดังนั้น จึงน่าจะถามใหม่ว่า เมื่อใดหรืออีกนานเท่าไรด้วยเงื่อนไขใด เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนทุกระดับทุกประเภททุกฝ่าย นักการเมือง และประชาชนจึงจะเข้าใจประชาธิปไตยอย่างน้อยใกล้เคียงกันให้ได้รวดเร็ว ว่าประชาธิปไตยคืออะไรแน่ ส่วนผมเลือกคำนิยามตามที่กล่าวมาข้างต้นครับ

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์……ผู้เขียน

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , , , , | ใส่ความเห็น

คนแบบไหนเหมาะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองไทยยุคใหม่

คนอยากเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมีไม่น้อย เพราะอยากเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่ แม้รู้ว่ามีปัญหาสำคัญแห่งยุค(สำหรับเมืองไทย)รออยู่ ได้แก่ พรรคควรมี(1)นโยบายอะไรบ้างที่โดนใจประชาชน และ(2)จะผลักดันนโยบายให้เดินหน้าราบรื่นต่อเนื่องจนบรรลุผลได้อย่างไร อีกทั้งในฐานะผู้เสนอตัวเป็นผู้แทนปวงชน จึงต้องอธิบายความให้ผู้คนสามวัย(หนุ่มสาว กลางคน และสูงวัย)เข้าใจตรงกัน เพื่อให้ได้รับคะแนนนิยมมากพอเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จึงมองว่าหัวหน้าพรรคที่เหมาะสมกับยุคสมัยน่าจะมีคุณสมบัติ2ก(เก่งและกล้า)ระดับพิเศษ และสามารถจัดทีมงานอันประกอบด้วยคนสามวัยเข้าพื้นที่ทุกเขตเลือกตั้ง

ด้วยเหตุที่คุณสมบัติ2ก.ระดับธรรมดาใช้ไม่ได้แล้ว(หมดยุค) เพราะหากได้รับเลือกจะส่งผลวนกลับไปเหมือนเดิม ไม่เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชนยุคใหม่ ซึ่งนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ต่างรู้ดีกว่าใคร(หากไม่หลงยุคจนโงหัวไม่ขึ้น)

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า เก่งระดับพิเศษ เช่น เก่งในการวินิจฉัยสั่งการหรือการตัดสินใจเลือกนโยบายที่ถูกต้องโดนใจประชาชน ส่วนกล้าระดับพิเศษ ไม่ใช่กล้าเดินเข้าคุก เพราะผู้คนอาจมองว่าหนีปัญหาเอาชีวิตรอดก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่กล้าระดับพิเศษเป็นเรื่องของวีรบุรุษวีรสตรี ที่มักทำวีรกรรมเสี่ยงตาย ซึ่งบ้างคนอาจตายหรือรอดก็ได้ เมื่อการเมืองไทยช่วงต่อไปส่อเค้าอาจรุนแรงกว่าอดีต ใครกลัวถูกฆ่าก็ควรไปทำงานอื่น เพราะเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคก็ดีเป็นนายกรัฐมนตรีก็ดี จะทำอะไรไม่ได้แน่ เปลืองน้ำลาย เสียเวลาและเงินของตนเอง อีกทั้งยังเปลืองเงินภาษีของประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ใครมีคุณสมบัติดังกล่าวเหนือกว่าคู่แข่งขัน มองว่าจะได้รับคะแนนนิยมมากกว่าแน่(คุณสมบัติอื่นๆเป็นรอง) เพราะคนไทยยุคใหม่รู้ว่าปัญหาที่ค้างคาใจ พูดกันมานาน และอยากให้คนเป็นนายกแก้ไข เช่น ป้องกันรัฐประประหาร หากเกิดรัฐประหารต้องไม่หนี แต่ต้องระงับให้ได้ มิฉะนั้น การดำเนินนโยบายสำคัญๆอื่นๆจะล้มเหลวหมด ไม่ว่าการดำเนินกรรมวิธีทำรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐบาลของประชาชน(democracy)อย่างแท้จริง ซึ่งต้องทำพร้อมไปกับดำเนินการปราบจน ปราบโกง ปราบอิทธิพลนอกนิติธรรม ฯลฯ ก็ตาม แม้ล้วนเป็นเรื่องที่ควรกำหนดเป็นนโยบายพรรคการเมือง แต่ยากเกินกว่าคนมี2ก.ธรรมดาจะทำได้ จึงมองว่าหัวหน้าพรรคการเมืองไทยยุคใหม่เป็นโอกาสของผู้เก่งกล้าเป็นพิเศษโดยแท้

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

 

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , | ใส่ความเห็น

คนกรุงเทพฯอยากให้รัฐบาลพิเศษแก้ปัญหาฝุ่นละออง

 

ได้ยินข่าวมีโพลบอกว่าผู้คนในกรุงเทพฯอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่นละอองที่ปกคลุมท้องฟ้ากรุงเทพฯโดยด่วน

 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่คงไม่มีรัฐบาลไหนแก้ให้ได้โดยเร็ว มองว่าอย่างมากอาจทำให้ลดลงได้ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เนื่องจากฝุ่นละอองเกิดจากการใช้รถใช้ถนน และอาจเกิดจากเหตุอื่นด้วย เช่น รถประเภทที่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ อย่างไรก็ดี รัฐบาลพิเศษอาจทำให้ลดลงโดยเร็วก็ได้ ใครจะไปรู้ เพราะ

 

(1)รถยนต์ส่วนบุคคลและรถแทกซี่ที่ใช้น้ำมันและแก๊สต้องลดจำนวนลงจนหมดไปอย่างรวดเร็ว โดยให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้าแทน ในขณะที่ไม่อาจบังคับให้รถที่จดทะเบียนใหม่ต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่หากจะทำจริงจัง คงต้องจูงใจผู้ซื้อรถใหม่โดยงดเก็บภาษีสักสามปีหรือกว่านี้ พร้อมกับลดภาษีนำเข้า เพื่อให้รถไฟฟ้ามีราคาถูกลง อีกทั้งสนับสนุนให้คนมีบ้านอยู่ริมถนน ตั้งอุปกรณ์บริการชาร์จแบต ไปไหนจะได้ไม่ต้องกลัวแบตหมด

(2)สนับสนุนเอกชน เช่น งดหรือลดเก็บภาษีนำเข้าส่วนประกอบในการทำกิจการเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนรถยนต์จากน้ำมันหรือแก๊สเป็นระบบไฟฟ้า รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่และการกำจัดซากชิ้นส่วน แต่รัฐต้องตรวจสอบความปลอดภัยให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลอาจมีนโยบายและแผนอยู่แล้วก็ได้ แต่เหตุใดไม่ขับเคลื่อนให้บรรลุผล หากยังเฉยๆอยู่ หรือกลัวกลุ่มผลประโยชน์ค้าน้ำมันหรือค้ารถยนต์ระบบโบราณรายได้ตก ต่อไปปัญหาดังกล่าวอาจจะเพิ่มขึ้นถึงขนาดขับรถในกรุงเทพฯต้องเปิดไฟกันทั้งวันก็ได้ ที่สำคัญอย่ามองข้ามสุขภาพของผู้คนที่อยู่อาศัยหรือจำเป็นต้องผ่านเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย เป็นรัฐบาลพิเศษทั้งที ทำอะไรดีๆพิเศษๆให้คนกรุงเทพฯชื่นใจบ้าง มองว่าประกาศเริ่มทำจริงได้แล้วครับ

 

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

Categories: การปฏิรูปประเทศ | ป้ายกำกับ: , , , | ใส่ความเห็น

นิติธรรมคืออะไร

 

ใครทำรัฐประหารสำเร็จ กระบวนการยุติธรรมยุคโบราณและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมองว่า ผู้นั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องรับผิด เพราะถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่ง อาจถูกลงโทษโดยเอาผู้ที่ขัดคำสั่งไปฆ่าก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลารอนานให้ศาลสั่ง ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้อำนาจบุคคลทางการเมืองการปกครองประเทศในยุคโบราณสืบทอดกันมา แม้บางช่วงบางประเทศมีความพยายามใช้นิติธรรมเป็นหลักในการปกครอง แต่ก็มีประเทศที่ยังไปไม่รอด

มองว่าอำนาจบุคคลที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น แท้จริงแล้วเกิดจากพลังอำนาจอาวุธในความควบคุมไม่ทางตรงก็โดยอ้อมของบุคคล เพียงแต่เรียกให้ดูดีว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แค่นั้นเอง แม้ผู้คนจำต้องยอมรับเพราะกลัวถูกฆ่า แต่พัฒนาการของสังคมการเมืองมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะเห็นคนไม่กี่คนเอารัดเอาเปรียบผู้คนส่วนใหญ่ทุกเรื่องก็ว่าได้ ไม่ว่าในด้านทรัพย์สิน ศักดิ์ศรี และแม้แต่คุณงามความดี แต่ไม่มีอำนาจอื่นใดยับยั้งเขาได้

อย่างไรก็ดี การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นงานที่ไม่มีขอบเขตจำกัด อีกทั้งมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นทุกวันและไม่รู้วันสิ้นสุด ยากที่ใครจะสร้างได้ตามลำพัง ที่สำคัญเมื่อบุคคลใดมีอำนาจมาก โอกาสที่จะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด หรือผิดพลาด หรือบิดเบือนการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกย่อมมีมาก เนื่องจากไม่มีใครกล้าใช้เหตุผลในการตรวจสอบ โต้แย้ง ติติง หรือประท้วง เพราะคมดาบไม่รู้จักอะไรคือเหตุที่ทำให้เกิดผลอันแท้จริง คนกลัวถูกฆ่าจึงบิดเบือนเหตุผลเอาตัวรอด และแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆใส่ตัวและพวกได้เช่นกัน

ความเป็นธรรมกับนิติธรรม. --

แต่การใช้กฎหรือหลักของกฎหมาย หรือนิติธรรม(the rule of law)ในการปกครองจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน ความเป็นธรรมทางสังคมก็เป็นพื้นฐานของนิติธรรมด้วย ความเป็นธรรมทางสังคมและนิติธรรมจึงแยกกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ซึ่งมีความผูกพันกันด้วยอำนาจเหตุผล สังคมการเมืองจึงมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆจนเป็นที่มาของรัฐบาลของประชาชน(democracy) หรือระบอบการเมืองการปกครองที่ผู้คนของประเทศใด ตั้งรัฐบาลของตนเองโดยตรงหรือทางอ้อมขึ้นมาบริหารประเทศแทนตน โดยใช้อำนาจเหตุผลแทนอำนาจอาวุธ

ด้วยเหตุนี้ ประเทศใดมีรัฐบาลของประชาชน อารยประเทศจึงมองว่าเป็นรัฐบาลที่แท้จริง เพราะเป็นผู้แทนประชาชนของประเทศนั้น เป็นรัฐบาลที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เชื่อถือได้ เนื่องจากมองว่าจะใช้เหตุผลสากลเหมือนกันในการพูดจา ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่เกทับกันอย่างในยุคโบราณ(ปัจจุบันนี้ หากประเทศใดนำมาใช้ เพราะเห็นว่าประเทศของตนมีแสนยานุภาพเหนือกว่า จะถูกประณามทันที)

สำหรับการเมืองการปกครองในปัจจุบัน(ประเทศส่วนใหญ่ต่างก้าวข้ามหรืออย่างน้อยกำลังก้าวข้ามยุคโบราณไปอยู่ในยุคอนุรักษ์ โดยมีบางส่วนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคก้าวหน้า) หากถามว่านิติธรรมคืออะไร ผมขอตอบสั้นๆว่า นิติธรรมคือเหตุผลสากลทางกฎหมายครับ

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์……ผู้เขียน

 

Categories: กฎหมายมหาชน, การศึกษา, การเมือง | ป้ายกำกับ: , , , , | ใส่ความเห็น

วิธีเลือกตั้งแบบเยอรมันนีมีปัญหา ไทยเอามาใช้ผลจะเป็นอย่างไร

ตัวหนังตะลุงไทย

ประเทศเยอรมันนีมีเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ24ก.ย.2560 ถึงวันนี้เกินสองเดือนแล้วยังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ มีเสียงวิจารณ์ว่าเกิดจากการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ไม่มีพรรคใดได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่ง จึงต้องตั้งรัฐบาลผสมเท่านั้น เมื่อพรรคการเมืองไม่ร่วมมือกันให้ได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่ง ก็ตั้งรัฐบาลผสมไม่ได้

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศเยอรมันนี อุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองของพรรคต่างกัน น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จหรือไม่ในการตั้งรัฐบาลผสมด้วย หากจะมีการเลือกตั้งใหม่ ผลจึงน่าจะเหมือนเดิม เพราะจะมีพรรคใหญ่เกินสองพรรคตามเดิม หากยังร่วมมือกันไม่ได้ รัฐบาลผสมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนพรรคเล็กๆไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าใดนัก

แต่ประเทศไทยมีพรรคการเมืองใหญ่เพียงสองพรรคเท่านั้น และน่าจะลงตัวเพียงแค่นี้ไปอีกนาน ในขณะที่มีพรรคเล็กๆเป็นตัวแปรสำคัญ แม้พรรคใหญ่ที่สามอย่างเขาอาจเกิดขึ้นได้ แต่ช่วงนี้และต่อไปคงไม่ง่าย เพราะคนไทยมีความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก หากตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตัวบุคคลโดยไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายที่ชื่นชอบสนับสนุน ประชาชนอาจมองว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจเหมือนในอดีต ไม่ยั่งยืน เป็นที่พึ่งพาอะไรไม่ได้

เมื่อประเทศไทยนำวิธีการเลือกตั้งของเขามาใช้ เพราะรู้ว่าจะเกิดผลทำนองเดียวกัน มองว่าเพื่อให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนของพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคและสมาชิกวุฒิสภาลากตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลจึงอาจทำได้โดยมีพรรคใหญ่พรรคเดียวสนับสนุน แต่อาจไม่มั่นคง ยกเว้นมีพรรคเล็กเข้าร่วมด้วย

อนึ่ง หากไม่มีพรรคใหญ่เข้าร่วมเลย มีแต่พรรคเล็กๆกับสมาชิกวุฒิสภาลากตั้งให้การสนับสนุน แม้ตั้งรัฐบาลผสมได้สบาย แต่คงอยู่ได้ไม่นาน แม้จะมีพรรคการเมืองตั้งใหม่ ซึ่งอาจมีที่นั่งในสภาบ้าง ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ยกเว้นกลายเป็นพรรคใหญ่พรรคที่สาม มีที่นั่งในสภามากพอเป็นแกนนำรวมพรรคเล็กๆให้ได้เสียงเกินกึ่ง ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ในการต่อสู้ทางการเมืองตามปรกติ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาอย่างในประเทศเยอรมันนี และเผลอให้มีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนย่อมรู้แล้วว่าจะสนับสนุนพรรคใดให้เต็มที่ไปเลย ซึ่งหากประชาชนพร้อมใจกันเลือกพรรคใหญ่เท่านั้น ไม่เลือกพรรคเล็ก ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนเป็นพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้ที่นั่งในสภาเกินกึ่ง ปิดช่องคนนอกลอดเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้สนิท แต่หากต้องการคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เลือกพรรคเล็กๆอย่างเคย มองว่าไม่ผิดหวัง แต่ผลคงไม่ต่างจากเอาตัวหนังตะลุงมาพิงข้างฝาบ้านไว้ดูแค่นั้นเอง

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , , | ใส่ความเห็น

ทางสองแพร่งในการเมืองไทย

ทางสองแพร่งในการเมืองไทย

ในอดีตเคยวิตกกันว่า การเลือกตั้งอาจได้คนไม่มีคุณภาพเข้าไปบริหารประเทศและตรากฎหมาย แต่ปัจจุบันวิตกกันว่า หากไม่มีเลือกตั้ง ประเทศจะไม่มีอะไรดีขึ้น ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีข้อสังเกตว่า (1)สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยยุคนี้มีคุณภาพสูงกว่ายุคก่อนๆ ซึ่งมีข้อเท็จจริงยืนยันชัดอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นไปตามพัฒนาการของสังคมการเมืองและสากลนิยมด้วย (2)สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลโดยวิธีพิเศษ มีคุณภาพด้อยกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาโดยการเลือกตั้งของประชาชน จึงมีโพลชี้ว่าประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้งหรือไม่

 

เมื่อรัฐธรรมนูญ2560ระบุแนวทางสู่การเลือกตั้งไว้ชัด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ได้ในปี2561 จึงเชื่อว่าไม่มีการยืดเวลาออกไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนความต้องการที่ตรงกันของประชาชนและนักการเมืองทุกพรรคทุกฝ่าย แต่หากอยากได้ใจจากประชาชนและนักการเมือง ก็ควรเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น เช่น อาจอยู่ในช่วงมี.ค.2561 ซึ่งจะทำให้มีรัฐบาลใหม่ราวกลางปี2561ได้ และนักการเมืองจำนวนมากอาจสนับสนุนนายกมาจากคนนอกก็ได้ ในวงจรผลประโยชน์ต่างตอบแทน รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายผู้ทรงอำนาจทำไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ จะได้ไม่เสียของ

 

อนึ่ง หากฝ่ายผู้ทรงอำนาจอยากมีตำแหน่งทางการเมืองต่อไป รัฐธรรมนูญ2560นี้ได้กำหนดตำแหน่งรองรับไว้หมดแล้ว ในรูปของสมาชิกวุฒิสภาและในรูปกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งฝ่ายผู้มีอำนาจแต่งตั้งเองได้ อีกทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนนอกมีสิทธิด้วย เป็นเหมือนของตาย ได้เป็นแน่ หากได้ใจจากนักการเมืองดังกล่าวมาแล้ว เพียงแต่ประชาชนและนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย อาจมีส่วนทำให้การบริหารและการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ราบรื่นหรือติดขัดจนไม่อาจทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรืออาจวางยาให้ตายทั้งเป็น เนื่องจากมีข้อน่าสังเกตว่า ไม่ว่านายกจะเป็นคนนอกหรือคนใน(เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย) หากอยู่นานพอสมควรตามสภาพของแต่ละคนและไปรอดปลอดภัยดีแล้ว ติดใจเป็นต่อ ก็มักมีเหตุพาไปคุก อีกทั้งปัจจุบันอาจต้องใช้หนี้ด้วย หรือไม่ก็ต้องไปหาที่อยู่ใหม่ในประเทศอื่น ซึ่งไม่ค่อยสบายเหมือนเมืองไทย

 

อย่างไรก็ดี มองว่าขณะนี้รัฐบาลโดยวิธีพิเศษเดินมาถึงทางสองแพร่งและกำลังประเมินสถานการณ์ เพื่อตัดสินใจเลือกระหว่าง เส้นทางแรก ซึ่งผู้คนและนักการเมืองหลายคนมักตั้งข้อสังเกตกันว่า อาจจะมีการใช้ม.44เลื่อนเลือกตั้งออกไปหรือไม่ และอาจจะนำมาใช้ในช่วงที่ผลการเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองอาจจับมือกอดคอกันแบบคาดไม่ถึงมาก่อน ส่อเค้าคนนอกหมดสิทธิเป็นนายกหรือไม่ จะให้นักการเมืองบางคนบางพรรคเข้าข้างฝ่ายตนต่อไปจะได้หรือไม่ ล้วนมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองถึงขั้นเอาไม่อยู่หรือไม่ เพราะกระแสความต้องการเลือกตั้งมาแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

แต่อย่างไรก็ตาม หากรอดไปได้จนมีผลการเลือกตั้งออกมา ประชาชนจำนวนมากอาจเอียงข้างพรรคและบุคคลที่มีผลเลือกตั้งสนับสนุนให้เป็นรัฐบาล ที่สำคัญประชาชนผู้สนับสนุนนักการเมืองย่อมมีอารมณ์ค้างฝังใจอยู่ตลอดแน่ ในขณะที่ผู้สนับสนุนคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีมีแค่สมาชิกวุฒิสภาที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งมาเลย คนนอกที่ไหนจะกล้าเสี่ยงเข้ามาเป็นนายก ทางเลือกแรกนี้จึงเปรียบเหมือนทางที่โรยด้วยเศษอิฐหินที่มีเหลี่ยมมุมอันแหลมคมมากมายตลอดทาง

 

ส่วนเส้นทางที่สอง ฝ่ายผู้มีอำนาจทำเพียงกำกับดูแลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งดำเนินการในกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญการเร่งรัดตรากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และร่นเวลาเลือกตั้งให้เร็วขึ้น เช่น อาจอยู่ในช่วงมี.ค.2561 ซึ่งจะทำให้มีรัฐบาลใหม่ราวกลางปี2561ได้ ดังกล่าวข้างต้น นอกจากอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ประชาชนและนักการเมืองจำนวนมากจะให้คะแนนนิยมชมชอบอีกด้วย จึงเป็นทางที่ปลอดภัย ไร้ความเสี่ยงใดๆ เดินนุ่มสบาย เหมือนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบทีเดียว

 

ท้ายสุด แม้ฝ่ายผู้ทรงอำนาจสามารถเลือกเส้นทางแรกได้ เพราะสวมรองเท้าพิเศษอยู่ แต่เชื่อว่าไม่น่าสำคัญผิดถึงขนาดเห็นเศษอิฐหินเป็นกลีบกุหลาบ หรือในทำนองกลับกันบนทางสองแพร่งนี้ เพราะเป็นฝ่ายรักษาความสงบในบ้านเมืองโดยตรงตลอดมากว่าสามปีแล้ว คงไม่อยากเสี่ยงพลาดท่าไปมีส่วนก่อความไม่สงบเสียเอง

 

 

รศ.พรชัย รัศมีแพทย์…..ผู้เขียน

Categories: การเมือง | ป้ายกำกับ: , , | ใส่ความเห็น

บลอกที่ WordPress.com .